วันพฤหัสบดีที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2553

ความสำคัญของการขาย

          วิชาการขาย อาชีพขาย การขาย ในแง่ใดแง่หนึ่งนี้ ย่อมมีความสำคัญหรือเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับบุคคล องค์การต่างๆ อย่างแน่นอนไม่มากก็น้อย ซึ่งในที่นี้จะกล่าวถึงความสำคัญของการขายในชีวิตประจำวันต่อกิจการธุรกิจ ต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ดังรายละเอียดต่อไปนี้

          ความสำคัญของการขายในชีวิตประจำวัน หลักการขายเป็นสิ่งที่สำคัญและจำเป็นในชีวิตประจำวันของเราทุกคน ไม่แต่เฉพาะพนักงานขายเท่านั้นที่ต้องใช้หลักการขาย คนเราใช้หลักการขายตั้งแต่เกิดจนตาย เพราะการขายเป็นวิชาที่ว่าด้วยศิลปะ การเกลี้ยกล่อมให้คนอื่นเห็นด้วย หรือคล้อยตามความคิดของตน ซึ่งบางครั้งเราใช้หลักการขายโดยไม่รู้ตัว เช่น ลูกขอเงินจากคุณพ่อเพื่อไปทัศนาจรกับเพื่อนในวันหยุด โดยต้องจูงใจท่านให้เห็นด้วยกับเหตุผลในการไปเที่ยว ท่านจึงจะให้เงิน นักการเมืองต้องการให้ประชาชนมีความศรัทธาและเชื่อถือ ก็ต้องใช้หลักการขายถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิด จุดมุ่งหมายและนโยบายของตนให้เป็นที่ประจักษ์ชัดแก่ประชาชน นายธนาคารต้องการเพิ่มยอดเงินฝากจากลูกค้าก็ต้องใช้หลักการขายเพื่อจูงใจลูกค้าให้มีความเชื่อมั่น และนำเงินมาฝากมากขึ้น ผู้ที่ศึกษาเล่าเรียนไม่ว่าจะเป็นสาขาวิชาใดก็ตาม จุดมุ่งหมายก็เพื่อจะได้นำความรู้ไปหางานทำซึ่งต้องไปสมัครงาน ในการสัมภาษณ์เพื่อคัดเลือกบุคคลเข้าทำงาน ผู้สมัครต้องขายบุคลิกภาพ ความรู้ ความสามารถ ความเหมาะสมกับตำแหน่งเพื่อให้ฝ่ายนายจ้างพิจารณารับไว้ทำงาน และเมื่อทำงานเราก็ต้องขายบริการ หรือแรงงานของเรา ถ้าเราทำงานดีก็จะได้ค่าตอบแทนสูงเหล่านี้เป็นต้น ฉะนั้นปัจจุบันนี้การขายเข้าไปเกี่ยวกับคนทุกวัย ทุกอาชีพและทุกระดับขั้นของสังคม เพราะไม่ว่าจะทำอะไรในชีวิตประจำวันเราก็ได้ใช้หลักของการขายรวมอยู่ด้วยเสมอ

          ความสำคัญของการขายต่อกิจการ การขายมีบทบาทสำคัญต่อการอยู่รอด และความเจริญเติบโตของ  กิจการ ไม่ว่ากิจการธุรกิจใดก็ตาม เมื่อจัดตั้งขึ้นต้องดำเนินการเพื่อแสวงหารายได้อันเป็นสิ่งสำคัญสำหรับกิจการให้สามารถดำเนินการต่อไปได้ ไม่ว่ากิจการธุรกิจใดจะตั้งอยู่ไม่ได้ ถ้าปราศจากพนักงานขาย และกิจการจะประสบความสำเร็จ มีฐานะมั่นคง มีความเจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็วได้ ส่วนหนึ่งต้องมาจากการมีพนักงานที่มีความสามารถสูง ดังนั้นเราจะเห็นได้ว่าพนักงานขายที่มีความสามารถสูงจะถูกประมูลตัวให้ไปทำงานกับกิจการที่กำลังตกต่ำเพื่อจะได้ใช้ความสามารถดึงฐานะของกิจการให้ดีขึ้น หรือพนักงานขายที่มีความสามารถสูง อาจถูกดึงตัวให้ไปทำงานกับกิจการที่กำลังเจริญก้าวหน้าให้ก้าวต่อไปได้อย่างไม่หยุดยั้ง นั่นหมายความว่าพนักงานขายมีความสำคัญต่อกิจการเสมอไม่ว่าจะอยู่ในภาวะใด

          ความสำคัญของการขายต่อเศรษฐกิจ และสังคมของประเทศ ประเทศใดก็ตามที่มีเศรษฐกิจดี จะดูได้จากประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศนั้น มีงานทำ มีรายได้สูง มีความเป็นอยู่ที่ดี ในทางตรงข้ามประเทศใดมีคนว่างงานมาก ขาดรายได้ แสดงว่าเศรษฐกิจของประเทศนั้นกำลังตกต่ำสินค้าต่าง ๆ ที่โรงงานผลิตขึ้นมาแล้วขายไม่ได้ เมื่อขายไม่ได้การผลิตจะผลิตต่อไปไม่ได้ ทำให้ไม่มีการจ้างงาน คนงานว่างงาน ไม่มีรายได้ การขายจึงมีความสำคัญในแง่ที่ทำให้สินค้าเปลี่ยนมือจากผู้ผลิตไปยังผู้ซื้อหรือผู้บริโภค ผู้ผลิตจำเป็นต้องสร้างความต้องการ (Demand) ไปพร้อมๆ กับการผลิตสินค้า เมื่อโรงงานผลิตสินค้าออกมาแล้วขายได้ ก็ต้องมีการผลิตต่อไปในปริมาณมากขึ้นตามความต้องการที่สูงขึ้น ทำให้มีการจ้างงานมากขึ้น คนมีงานทำ มีรายได้ เศรษฐกิจของประเทศก็ดี นอกจากนี้พนักงานขายเป็นผู้ทำให้การผลิต และการจำหน่ายมีปริมาณสูงขึ้น ซึ่งมีผลทำให้ต้นทุนการผลิตลดลง ถือว่าเป็นการช่วยลดค่าครองชีพของประชาชนอีกด้วย

          จะเห็นว่าไม่ว่าธุรกิจการงานใดก็ตาม งานการขายจะเข้าไปเกี่ยวข้องอยู่ด้วยเสมอ การเรียนวิชาการขายทำให้คนมีความรู้ เป็นพนักงานขายที่ดี รู้จักหางานทำที่เหมาะสมกับความรู้ ความสามารถผลของงานก็มีประสิทธิภาพ มีความเจริญก้าวหน้าในตำแหน่งการงาน มีความมั่นคงในงานอาชีพ ดังนั้นถ้าทุกคนรู้จักนำเอาหลักการของการขายไปใช้อย่างถูกต้องเหมาะสมแล้วย่อมประสบความสำเร็จในชีวิตได้อย่างแน่นอน

ชนิดของงานขาย ถ้าจะสรุปโดยกว้างๆ จะมีอยู่ 2 ลักษณะ

1. งานขายสินค้า (Goods) เป็นสิ่งที่มีตัวตน สัมผัสได้ จับต้องได้ พนักงานขายสินค้าสามารถดำเนินการเสนอขายให้กับลูกค้าได้ง่าย เพราะลูกค้าได้รู้ ได้เห็น และใช้ประสาทสัมผัสได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับประโยชน์และความพอใจที่ลูกค้าได้รับ

2. งานขายบริการ (Service) เป็นสิ่งที่ไม่มีตัวตน สัมผัสไม่ได้ เช่น การประกันชีวิต หุ้น พันธบัตร เป็นต้น การขายบริการขึ้นอยู่กับความสามารถของการขายที่จะอธิบายให้ลูกค้าเห็นประโยชน์จากบริการที่เสนอขาย พนักงานขายต้องมีจินตนาการ เฉลียวฉลาด และมีความสามารถในการถ่ายทอดแนวความคิดอย่างชัดแจ้ง และต้องบมีความสามารถในการชักจูงใจคนได้ด้วย เพราะงานขายบริการนี้เป็นเรื่องของอารมณ์หรือความรู้สึกมากกว่าเหตุผล เป็นความประทับใจ ความพอใจในคุณค่าของสินค้าหรือบริการดังนั้นงานขายประเภทนี้จึงถือเป็นวิธีการเสนอที่ยากที่สุดของงานขายทุกๆ ประเภท ซึ่งพนักงานขายย่อมต้องอาศัย กิริยาวาจา และท่าทีเป็นสิ่งสำคัญ ความมีมนุษยสัมพันธ์เป็นปัจจัยที่สำคัญตลอดจนความพร้อม และความเต็มใจในการที่จะรับใช้หรือช่วยเหลือผู้อื่น



ที่มา : http://mathayom.brr.ac.th/~alluser/anong/learn1.htm