วันอาทิตย์ที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

บทความสินค้าส่งออก

ผ้าไหมไทย


                ออสเตรเลียเป็นประเทศหนึ่งที่มีความมั่นคงในด้านเศรษฐกิจ และเป็นตลาดที่มีศักยภาพที่ดีระดับหนึ่ง ซึ่งแม้ว่าปัจจุบันการค้าระหว่างไทยกับออสเตรเลียยังมีมูลค่าไม่มากนัก แต่จากความสัมพันธ์อันดีระหว่างไทยกับออสเตรเลียทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม โดยมีการตกลงร่วมมือทางด้านการค้า การให้สิทธิพิเศษสำหรับสินค้าหลายรายการจากการที่ไทยและออสเตรเลียเป็นสมาชิก APEC (Asia Pacific Economic Cooperation) และการลงนามข้อตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย(Thailand-Australia Free Trade Agreement : TAFTA) ที่ช่วยลดความเข้มงวดของมาตรการกฎระเบียบต่างๆ อันเป็นอุปสรรคทางการค้า ก็นับเป็นปัจจัยที่เอื้ออำนวยให้การค้าระหว่างไทยกับออสเตรเลียมีโอกาสเพิ่มสูงขึ้นได้
                นอกจากนี้ออสเตรเลียยังเป็นเมืองที่มีนักท่องเที่ยวเข้าไปเยี่ยมชมปีละจำนวนมาก และประชากรประกอบด้วยหลายเชื้อชาติทำให้ความต้องการสินค้ามีความหลากหลายพอสมควร โดยเฉพาะสินค้าหัตถกรรมที่พบว่าสินค้าของไทยที่มีรูปแบบ และคุณภาพได้มาตรฐานมีศักยภาพและแนวโน้มที่ดีไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์เซรามิก หรือไม้แกะสลัก ส่วนผ้าไหมและผลิตภัณฑ์ของไทยนั้นก็มีแนวโน้มที่ดีเช่นกัน
                โดยในช่วง 7 เดือนแรกปี 2549 ไทยสามารถส่งออกสินค้ากลุ่มดังกล่าวไปยังตลาดออสเตรเลียคิดเป็นมูลค่า 13.1 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.13 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน โดยเฉพาะในส่วนของผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่ผลิตจากผ้าไหมอย่างเสื้อผ้าสำเร็จรูป ผ้าเช็ดหน้า ผ้าพันคอ หรือเน็คไท เป็นต้น นั้น มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนจากมูลค่า 3.2 ล้านบาทในปี 2544 เป็นมูลค่า 8.0 ล้านบาทในปี 2548 และในช่วง 7 เดือนแรกปี 2549 ไทยสามารถส่งออกผลิตภัณฑ์ผ้าไหมไปยังตลาดออสเตรเลียเป็นมูลค่า 5.3 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 70.84 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ส่วนผ้าไหมนั้นพบว่ามีทิศทางที่ชะลอตัวลงด้วยอัตราการเติบโตที่ลดลงร้อยละ 18.63 เมื่อเทียบจากช่วง 7 เดือนแรกปี 2548
                โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่าสินค้าผลิตภัณฑ์ผ้าไหมของไทยน่าจะเป็นตัวแปรสำคัญที่กระตุ้นให้สินค้าผ้าไหมและผลิตภัณฑ์ของไทยโดยรวมในตลาดออสเตรเลียขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งคาดว่าในปี 2549 มูลค่าการส่งออกของสินค้ากลุ่มนี้โดยรวมในตลาดออสเตรเลียน่าจะขยายตัวด้วยระดับอัตราการเติบโตใกล้เคียงร้อยละ 10 หรือคิดเป็นมูลค่าการส่งออกประมาณ 25 ล้านบาท ซึ่งปัจจัยที่เกื้อหนุนสำคัญได้แก่ 1. เศรษฐกิจออสเตรเลียในปี 2549 ยังมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง 2. การลงนามข้อตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย(Thailand-Australia Free Trade Agreement : TAFTA) ส่งผลให้ผ้าไหมและผลิตภัณฑ์ก็เป็นหนึ่งในสินค้าที่ได้รับการลดภาษีจากออสเตรเลีย 3. รูปแบบโดยเฉพาะในส่วนของเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายด้วยผ้าไหมจึงได้รับอิทธิพลจากแถบเอเชียพอสมควร 4.นอกจากนี้ปัจจุบันคุณภาพและความหลากหลายของผ้าและผลิตภัณฑ์ผ้าไหมของไทยมีความหลากหลายมากขึ้น 5. การสนับสนุนจากภาครัฐ จากการที่ภาครัฐเข้ามาสนับสนุนอย่างเป็นระบบด้วยการทำหน้าที่เป็นผู้นำร่องให้เอกชนไปบุกเบิกตลาดใหม่ๆ ภายใต้โครงการเจาะตลาดเป้าหมาย
                อย่างไรก็ตาม ในขณะที่มีปัจจัยเกื้อหนุนหลายประการดังกล่าวข้างต้น แต่ในปี 2549 ผู้ผลิตและผู้ส่งออกไทยในตลาดออสเตรเลียก็ยังคงต้องเผชิญกับหลากหลายปัจจัยลบด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น 1.ตลาดภายในประเทศออสเตรเลียที่มีการแข่งขันค่อนข้างสูง 2. ปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบ 3.จีนมีการพัฒนาคุณภาพและรูปแบบเพิ่มขึ้นตามลำดับ ผ้าไหมที่ผลิตจากเส้นไหมขาวของอินเดียมีต้นทุนในการผลิตต่ำกว่าการผลิตเส้นไหมเหลืองของไทย และ 5.ปัญหาการจัดการ พบว่าผู้ประกอบอุตสาหกรรมไหมไทยส่วนใหญ่ยังขาดทักษะในการบริหาร
                ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่าแนวทางในการปรับตัวของผู้ประกอบการไทยเพื่อตอบสนองความต้องการบริโภคผ้าและผลิตภัณฑ์ไหมของไทยในตลาดออสเตรเลียให้ขยายตัวมากยิ่งขึ้นนั้น จึงควรประกอบด้วย 1.การพัฒนาทางด้านอุตสาหกรรมต่อเนื่อง 2. การสร้างความแตกต่าง 3. การมุ่งสร้างตราสินค้าให้เป็นที่ยอมรับและเชื่อมั่นของลูกค้า 4.การสร้างการรับรู้ในคุณค่าของผ้าและผลิตภัณฑ์ไหม ด้วยการเผยแพร่ผ่านการสัมมนาในงานแสดงสินค้า การเขียนบทความลงในนิตยสาร และการจัดทำโฆษณาผ่านสื่อต่างๆ ในตลาดอย่างต่อเนื่อง 5.การติดตามความเคลื่อนไหวของตลาด
                ซึ่งผู้ประกอบการไทยควรต้องเร่งปรับกลยุทธ์ทั้งด้านการผลิตและการตลาดอย่างต่อเนื่อง เพื่อก่อให้เกิดความได้เปรียบในการแข่งขันทั้งในส่วนของการมีความได้เปรียบด้านต้นทุนที่ต่ำ อันเกิดจากประสิทธิภาพการประกอบการที่เหนือกว่า ด้วยการปรับปรุงระบบการบริหารต้นทุนการผลิตให้ต่ำลง หรือการเพิ่มระดับมาตรฐานการดูแลรังไหมให้มีเปอร์เซ็นต์รังเสียน้อยที่สุด โดยอาศัยเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาช่วย การเพิ่มผลผลิตหม่อนต่อหน่วยพื้นที่ การปรับปรุงคุณภาพการผลิตเส้นไหม และการควบคุมมาตรฐานวัตถุดิบ รวมถึงการควบคุมการจัดการและการส่งมอบให้ดีด้วย เป็นต้น ขณะเดียวกันก็ต้องเร่งสร้างการมีความได้เปรียบด้านความแตกต่าง เพื่อรุกตลาดระดับกลาง และขยับไปยังตลาดระดับบนมากขึ้น รวมถึงการกระจายกลุ่มเป้าหมายจากรายบุคคลไปยังกลุ่มโรงแรม หรือสปา ในส่วนของผลิตภัณฑ์ผ้าไหมอย่างกลุ่มสินค้าเครื่องประดับตกแต่งบ้านด้วย โดยอาศัยจุดแข็งด้านฝีมือที่ชำนาญและประณีตของแรงงานไทย
                แต่ทั้งนี้ก็ต้องกำหนดราคาสินค้าในระดับที่เหมาะสมและสามารถแข่งขันได้ด้วย ควบคู่กับการเพิ่มมูลค่าสินค้าด้วยความคิดสร้างสรรค์ การสร้างตราสินค้าของตนเอง การพัฒนาคุณภาพและรูปแบบของสินค้า โดยควรเน้นการออกแบบที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่อาจจะเป็นการผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมของไทยและออสเตรเลีย เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคชาวออสเตรเลีย รวมถึงนักท่องเที่ยวที่เข้าไปเยือนออสเตรเลียและคาดหวังจะได้รับกลิ่นอายของความเป็นออสเตรเลียด้วย เป็นต้น



วิเคราะห์ SWOT Analysis  ผ้าไหม

จุดแข็ง
-                    มีเอกลักษณ์เฉพาะท้องถิ่นลักษณะผ้าทอไหมเป็นสินค้าที่ผลิตในท้องถิ่น จึงทำให้มีลายและรูปแบบที่มีความเป็นเอกลักษณ์ มีลักษณะจำเพาะ
-                    เป็นสินค้าหัตถกรรมที่มีมูลค่าสูงเนื่องจากเป็นสินค้าที่ทำด้วยมือจึงมีคุณค่าและมีมูลค่าสูง
-                   เป็นภูมิปัญญาไทย
จุดอ่อน
-                   ไม่สามารถผลิตได้จำนวนมาก เนื่องจากเป็นสินค้าที่ทำด้วยมือ จึงต้องใช้เวลาในการผลิตค่อนข้างมาก
-                    มาตรฐานสินค้าไม่สม่ำเสมอ เช่น เดียวกันเนื่องจากเป็นสินค้าหัตถกรรมบางครั้งจึงทำให้มีมาตรฐานสินค้าที่ไม่สม่ำเสมอ เช่น สี คุณภาพผ้า เป็นต้น
-                   ดัดแปลงใช้กับชีวิตประจำวันได้ยาก ในการผลิตผ้าทอไหมเพื่อการใช้งานเมื่อนำมาใช้ดัดแปลงกับชีวิตความเป็นอยู่ในปัจจุบันจะสามารถใช้งานได้ยาก เนื่องจากคุณสมบัติของผ้า ลวดลาย สีสัน
-                   ดูแลรักษายาก เนื่องจากเป็นผ้าไหมทอมือ จึงจำเป็นต้องใช้การดูแลรักษาเป็นอย่างดี จึงจะทำให้เกิดความยุ่งยาก
โอกาส
-                   ผู้ซื้อจากต่างประเทศต้องการสินค้าแปลกใหม่ ที่ไม่สามารถหาได้ทั่วไปในตลาดความนิยมวัสดุธรรมชาติมีแนวโน้มสูงขึ้น เช่น ผ้าฝ้าย ผ้าไหม ใช้การย้อมสีธรรมชาติเนื่องจากจะไม่ส่งผลต่อร่างกาย มีรูปแบบที่น่าสนใจและมีราคาที่เหมาะสม มีกลิ่นอายของความเป็นเอเชีย
-                   ผ้าไหมไทยมีเอกลักษณ์และเป็นที่ชื่นชมในระดับนานาชาติ ทำให้ผลผลิตจากอุตสาหกรรมไหมยังมีโอกาสอีกมากในตลาดทั้งภายในและภายนอกประเทศ
ปัญหาและอุปสรรค
-                   การแข่งขันในตลาดต่างประเทศมีสูงมาก ในตลาดโลกมีสินค้าหลากหลายที่เสนอให้กับลูกค้า ทั้งในเรื่องของรูปแบบราคา คุณภาพ ดังนั้นสินค้าจากไทยรูปแบบเติม ๆ จะไม่สามารถครองตลาดได้อีกต่อไป
-                   ปริมาณเส้นไหมที่มีอยู่ในประเทศไม่เพียงพอกับความต้องการ ต้องมีการนำเข้าทำให้มีต้นทุนในส่วนวัตถุดิบสูงขึ้น
-                   มีการแข่งขันจากผ้าทอพื้นเมืองที่ทำจากวัสดุอื่นที่มีราคาถูกกว่า และดูแลรักษาง่ายกว่า เช่น ผ้าฝ้ายทอพื้นเมือง เป็นต้น

วันอังคารที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ประเทศออสเตรเลีย



ภูมิศาสตร์ของประเทศออสเตรเลีย
           
ออสเตรเลียในประเทศที่มีลักษณะเป็นทวีป มีเนื้อที่ 7,682,300 ตารางกิโลเมตร มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 6 รองจากประเทศรัสเซีย แคนาดา จีน อเมริกา บราซิล เนื้อที่ 1 ใน 3 เป็นทะเลทราย ประชากรตั้งถิ่นฐานหนาแน่นอยู่แถบชายฝั่งตะวันออกและทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศเพราะเป็นเขตที่มีพื้นที่อุดมสมบูรณ์และมีฝนตกชุกกว่า ภูมิอากาศของประเทศออสเตรเลียมีทั้งที่เป็นเขตร้อนและเขตอบอุ่น เนื้อที่ส่วนใหญ่ของรัฐ Northern Territory  รัฐ Queensland และบางส่วนของรัฐ Western Australia ตั้งอยู่ในเขตร้อนเหมือนประเทศไทย นอกนั้นอยู่ในเขตอบอุ่น อุณหภูมิเฉลี่ยแตกต่างกันในแต่ละรัฐ ระหว่าง 27 องศาเซลเซียสเหนือสุด ถึง 13 องศาเซลเซียสตอนใต้สุด

วันพฤหัสบดีที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

การค้าระหว่างประเทศกับการตลาดระหว่างประเทศ



การค้าระหว่างประเทศ
                การค้าระหว่างประเทศ หมายถึง การซื้อขายสินค้าและบริการระหว่างประเทศต่างๆ ประเทศที่ทำการซื้อขายสินค้าระหว่างกัน เรียกว่า "ประเทศคู่ค้า" สินค้าที่แต่ละประเทศซื้อเรียกว่า "สินค้าเข้า" (imports) และสินค้าที่แต่ละประเทศขายไปเรียกว่า "สินค้าออก" (exports) ประเทศที่ซื้อสินค้าจากต่างประเทศ เรียกว่า "ประเทศผู้นำเข้า" ส่วนประเทศที่ขายสินค้าให้ต่าง ประเทศ เรียกว่า "ประเทศผู้ส่งสินค้าออก" โดยทั่วไปแล้ว แต่ละประเทศจะมีฐานะเป็นทั้งประเทศ ผู้นำสินค้าเข้า และ ประเทศผู้สินค้าออกในเวลาเดียวกัน เพราะประเทศต่างๆ มีการผลิตสินค้า แตกต่างกัน
สาเหตุที่มีการค้าระหว่างประเทศ
เหตุผลทางเศรษฐกิจที่ทำให้ประเทศต่างๆในโลกทำการค้าขายกัน ที่สำคัญมีอยู่ด้วยกัน 2 ประการ คือ
                1. ความแตกต่างทางด้านทรัพยากรที่ใช้ผลิตในแต่ละประเทศ เนื่องมาจากความแตกต่างในเรื่องสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศ เช่น ประเทศ ไทยมีพื้นดินที่อุดมสมบูรณ์เหมาะสมแก่การเพาะปลูกมากกว่าญี่ปุ่น คูเวตมีน้ำมันมาก กว่าไทย จีนมีประชากรมากกว่าประเทศอื่นๆ ดังนั้น ประเทศใดที่มี ทรัพยากรชนิดใดมาก ก็จะผลิตสินค้าที่ใช้ทรัพยากรชนิดนั้นๆเป็นปัจจัยการผลิตสินค้าออกเพื่อแลกเปลี่ยน กับสินค้าอื่น
                2. ความแตกต่างในเรื่องความชำนาญในการผลิต เนื่องจากผู้ผลิตของแต่ละประเทศจะมีความชำนาญและเทคโนโลยีในการผลิตสินค้าและ บริการแตกต่างกัน บางประเทศผู้ผลิตมีความรู้ความชำนาญเป็นพิเศษในการผลิตสินค้า บางชนิด เช่น ประเทศญี่ปุ่นมีความรู้ความชำนาญในการผลิตเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ ประเทศเนเธอร์แลนด์มีความรู้ความชำนาญในการผลิตเครื่องจักรกลการเกษตร ประเทศสวิตเซอร์แลนด์มีความรู้ความชำนาญในการผลิตนาฬิกา ความแตกต่างของ ปัจจัยดังกล่าวนี้ผลักดันให้แต่ละประเทศเล็งเห็นประโยชน์จากการเลือกผลิตสินค้าบาง อย่างที่มีต้นทุนต่ำ มีความรู้ความชำนาญ และเลือกสั่งซื้อสินค้าแตะละประเภทที่ผู้บริโภค ในประเทศของตนต้องการแต่ไม่สามารถผลิตได้ หรือผลิตได้ในต้นทุนที่สูงเกินไป และปัจจัยเหล่านี้ก้อให้เกิดการค้าระหว่างประเทศเกิดขึ้น


  การตลาดระหว่างประเทศ
การตลาดระหว่างประเทศ คือ การนำเสนอผลิตภัณฑ์หรือบริการส่งมอบให้กับลูกค้าในประเทศต่าง ๆ โดยมีเป้าหมายเพื่อการหาตลาดใหม่ เพื่อสร้างส่วนแบ่งทางการตลาดใหม่หรือแบ่งส่วนตลาดเดิม เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่อยู่ในประเทศเป้าหมาย โดยใช้กลยุทธ์ส่วนประสมทางการตลาดที่เหมาะสม อาจเป็นการใช้มาตรฐานเดียวกับประเทศแม่ หรือการปรับให้เหมาะสมกับแต่ละประเทศ
การตลาดระหว่างประเทศจึงเป็นเรื่องที่ซับซ้อนกว่าการตลาดภายในประเทศเป็นอย่างมาก ดังนั้นธุรกิจจะประสบความสำเร็จในตลาดระหว่างประเทศได้นั้น การตลาดระหว่างประเทศไม่ใช่เพียงแค่การขนส่งสินค้าข้ามพรมแดน การตลาดระหว่างประเทศไม่ใช่แค่การดำเนินการทางการตลาดโดยใช้หลักการตลาดพื้นฐานทั่วไป ที่ธุรกิจเคยใช้มาในตลาดภายในประเทศแล้วประสบความสำเร็จ เช่น การใช้ส่วนประสมทางการตลาด (Product, Price,Place and Promotion) ซึ่งกลยุทธ์เหล่านี้อาจจะไม่เพียงพอที่จะทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จในตลาดระหว่างประเทศเลยก็ได้  เนื่องจากตลาดภายในประเทศกับตลาดระหว่างประเทศจะมีความแตกต่างของปัจจัยต่างๆ อยู่เป็นอย่างมาก สิ่งที่นักการตลาดระหว่างประเทศต้องระลึกถึงเสมอก็คือ วิธีที่จะสร้างความสำเร็จทางการตลาดทั้งตลาดภายในประเทศรวมถึงตลาดระหว่างประเทศนั้นธุรกิจต้องค้นหาวิธีที่จะสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้าได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม


ความแตกต่างของการค้าระหว่างประเทศกับการตลาดระหว่างประเทศ
การค้าระหว่างประเทศ เป็นการซื้อขายสินค้าและบริการระหว่างประเทศต่างๆที่ทำการซื้อขายสินค้าระหว่างกัน สินค้าที่แต่ละประเทศซื้อเรียกว่า "สินค้าเข้า" (imports) และสินค้าที่แต่ละประเทศขายไปเรียกว่า "สินค้าออก" (exports) โดยทั่วไปแล้ว แต่ละประเทศจะมีฐานะเป็นทั้งประเทศ ผู้นำสินค้าเข้า และ ประเทศผู้นำสินค้าออกในเวลาเดียวกัน เพราะประเทศต่างๆ มีการผลิตสินค้าที่แตกต่างกัน
การตลาดระหว่างประเทศ เป็นการนำเสนอผลิตภัณฑ์หรือบริการให้กับลูกค้าในประเทศต่าง ๆ โดยมีเป้าหมายเพื่อการหาตลาดใหม่และเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่อยู่ในประเทศเป้าหมาย การตลาดระหว่างประเทศจึงเป็นเรื่องที่ซับซ้อนมากกว่าการตลาดภายในประเทศเป็นอย่างมาก ดังนั้นนักการตลาดจะต้องระลึกถึงเสมอว่า วิธีที่จะสร้างความสำเร็จทางการตลาดทั้งตลาดภายในประเทศรวมถึงตลาดระหว่างประเทศนั้นธุรกิจต้องค้นหาวิธีที่จะสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้าได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม