วันอาทิตย์ที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

บทความสินค้าส่งออก

ผ้าไหมไทย


                ออสเตรเลียเป็นประเทศหนึ่งที่มีความมั่นคงในด้านเศรษฐกิจ และเป็นตลาดที่มีศักยภาพที่ดีระดับหนึ่ง ซึ่งแม้ว่าปัจจุบันการค้าระหว่างไทยกับออสเตรเลียยังมีมูลค่าไม่มากนัก แต่จากความสัมพันธ์อันดีระหว่างไทยกับออสเตรเลียทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม โดยมีการตกลงร่วมมือทางด้านการค้า การให้สิทธิพิเศษสำหรับสินค้าหลายรายการจากการที่ไทยและออสเตรเลียเป็นสมาชิก APEC (Asia Pacific Economic Cooperation) และการลงนามข้อตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย(Thailand-Australia Free Trade Agreement : TAFTA) ที่ช่วยลดความเข้มงวดของมาตรการกฎระเบียบต่างๆ อันเป็นอุปสรรคทางการค้า ก็นับเป็นปัจจัยที่เอื้ออำนวยให้การค้าระหว่างไทยกับออสเตรเลียมีโอกาสเพิ่มสูงขึ้นได้
                นอกจากนี้ออสเตรเลียยังเป็นเมืองที่มีนักท่องเที่ยวเข้าไปเยี่ยมชมปีละจำนวนมาก และประชากรประกอบด้วยหลายเชื้อชาติทำให้ความต้องการสินค้ามีความหลากหลายพอสมควร โดยเฉพาะสินค้าหัตถกรรมที่พบว่าสินค้าของไทยที่มีรูปแบบ และคุณภาพได้มาตรฐานมีศักยภาพและแนวโน้มที่ดีไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์เซรามิก หรือไม้แกะสลัก ส่วนผ้าไหมและผลิตภัณฑ์ของไทยนั้นก็มีแนวโน้มที่ดีเช่นกัน
                โดยในช่วง 7 เดือนแรกปี 2549 ไทยสามารถส่งออกสินค้ากลุ่มดังกล่าวไปยังตลาดออสเตรเลียคิดเป็นมูลค่า 13.1 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.13 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน โดยเฉพาะในส่วนของผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่ผลิตจากผ้าไหมอย่างเสื้อผ้าสำเร็จรูป ผ้าเช็ดหน้า ผ้าพันคอ หรือเน็คไท เป็นต้น นั้น มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนจากมูลค่า 3.2 ล้านบาทในปี 2544 เป็นมูลค่า 8.0 ล้านบาทในปี 2548 และในช่วง 7 เดือนแรกปี 2549 ไทยสามารถส่งออกผลิตภัณฑ์ผ้าไหมไปยังตลาดออสเตรเลียเป็นมูลค่า 5.3 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 70.84 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ส่วนผ้าไหมนั้นพบว่ามีทิศทางที่ชะลอตัวลงด้วยอัตราการเติบโตที่ลดลงร้อยละ 18.63 เมื่อเทียบจากช่วง 7 เดือนแรกปี 2548
                โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่าสินค้าผลิตภัณฑ์ผ้าไหมของไทยน่าจะเป็นตัวแปรสำคัญที่กระตุ้นให้สินค้าผ้าไหมและผลิตภัณฑ์ของไทยโดยรวมในตลาดออสเตรเลียขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งคาดว่าในปี 2549 มูลค่าการส่งออกของสินค้ากลุ่มนี้โดยรวมในตลาดออสเตรเลียน่าจะขยายตัวด้วยระดับอัตราการเติบโตใกล้เคียงร้อยละ 10 หรือคิดเป็นมูลค่าการส่งออกประมาณ 25 ล้านบาท ซึ่งปัจจัยที่เกื้อหนุนสำคัญได้แก่ 1. เศรษฐกิจออสเตรเลียในปี 2549 ยังมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง 2. การลงนามข้อตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย(Thailand-Australia Free Trade Agreement : TAFTA) ส่งผลให้ผ้าไหมและผลิตภัณฑ์ก็เป็นหนึ่งในสินค้าที่ได้รับการลดภาษีจากออสเตรเลีย 3. รูปแบบโดยเฉพาะในส่วนของเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายด้วยผ้าไหมจึงได้รับอิทธิพลจากแถบเอเชียพอสมควร 4.นอกจากนี้ปัจจุบันคุณภาพและความหลากหลายของผ้าและผลิตภัณฑ์ผ้าไหมของไทยมีความหลากหลายมากขึ้น 5. การสนับสนุนจากภาครัฐ จากการที่ภาครัฐเข้ามาสนับสนุนอย่างเป็นระบบด้วยการทำหน้าที่เป็นผู้นำร่องให้เอกชนไปบุกเบิกตลาดใหม่ๆ ภายใต้โครงการเจาะตลาดเป้าหมาย
                อย่างไรก็ตาม ในขณะที่มีปัจจัยเกื้อหนุนหลายประการดังกล่าวข้างต้น แต่ในปี 2549 ผู้ผลิตและผู้ส่งออกไทยในตลาดออสเตรเลียก็ยังคงต้องเผชิญกับหลากหลายปัจจัยลบด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น 1.ตลาดภายในประเทศออสเตรเลียที่มีการแข่งขันค่อนข้างสูง 2. ปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบ 3.จีนมีการพัฒนาคุณภาพและรูปแบบเพิ่มขึ้นตามลำดับ ผ้าไหมที่ผลิตจากเส้นไหมขาวของอินเดียมีต้นทุนในการผลิตต่ำกว่าการผลิตเส้นไหมเหลืองของไทย และ 5.ปัญหาการจัดการ พบว่าผู้ประกอบอุตสาหกรรมไหมไทยส่วนใหญ่ยังขาดทักษะในการบริหาร
                ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่าแนวทางในการปรับตัวของผู้ประกอบการไทยเพื่อตอบสนองความต้องการบริโภคผ้าและผลิตภัณฑ์ไหมของไทยในตลาดออสเตรเลียให้ขยายตัวมากยิ่งขึ้นนั้น จึงควรประกอบด้วย 1.การพัฒนาทางด้านอุตสาหกรรมต่อเนื่อง 2. การสร้างความแตกต่าง 3. การมุ่งสร้างตราสินค้าให้เป็นที่ยอมรับและเชื่อมั่นของลูกค้า 4.การสร้างการรับรู้ในคุณค่าของผ้าและผลิตภัณฑ์ไหม ด้วยการเผยแพร่ผ่านการสัมมนาในงานแสดงสินค้า การเขียนบทความลงในนิตยสาร และการจัดทำโฆษณาผ่านสื่อต่างๆ ในตลาดอย่างต่อเนื่อง 5.การติดตามความเคลื่อนไหวของตลาด
                ซึ่งผู้ประกอบการไทยควรต้องเร่งปรับกลยุทธ์ทั้งด้านการผลิตและการตลาดอย่างต่อเนื่อง เพื่อก่อให้เกิดความได้เปรียบในการแข่งขันทั้งในส่วนของการมีความได้เปรียบด้านต้นทุนที่ต่ำ อันเกิดจากประสิทธิภาพการประกอบการที่เหนือกว่า ด้วยการปรับปรุงระบบการบริหารต้นทุนการผลิตให้ต่ำลง หรือการเพิ่มระดับมาตรฐานการดูแลรังไหมให้มีเปอร์เซ็นต์รังเสียน้อยที่สุด โดยอาศัยเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาช่วย การเพิ่มผลผลิตหม่อนต่อหน่วยพื้นที่ การปรับปรุงคุณภาพการผลิตเส้นไหม และการควบคุมมาตรฐานวัตถุดิบ รวมถึงการควบคุมการจัดการและการส่งมอบให้ดีด้วย เป็นต้น ขณะเดียวกันก็ต้องเร่งสร้างการมีความได้เปรียบด้านความแตกต่าง เพื่อรุกตลาดระดับกลาง และขยับไปยังตลาดระดับบนมากขึ้น รวมถึงการกระจายกลุ่มเป้าหมายจากรายบุคคลไปยังกลุ่มโรงแรม หรือสปา ในส่วนของผลิตภัณฑ์ผ้าไหมอย่างกลุ่มสินค้าเครื่องประดับตกแต่งบ้านด้วย โดยอาศัยจุดแข็งด้านฝีมือที่ชำนาญและประณีตของแรงงานไทย
                แต่ทั้งนี้ก็ต้องกำหนดราคาสินค้าในระดับที่เหมาะสมและสามารถแข่งขันได้ด้วย ควบคู่กับการเพิ่มมูลค่าสินค้าด้วยความคิดสร้างสรรค์ การสร้างตราสินค้าของตนเอง การพัฒนาคุณภาพและรูปแบบของสินค้า โดยควรเน้นการออกแบบที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่อาจจะเป็นการผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมของไทยและออสเตรเลีย เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคชาวออสเตรเลีย รวมถึงนักท่องเที่ยวที่เข้าไปเยือนออสเตรเลียและคาดหวังจะได้รับกลิ่นอายของความเป็นออสเตรเลียด้วย เป็นต้น



วิเคราะห์ SWOT Analysis  ผ้าไหม

จุดแข็ง
-                    มีเอกลักษณ์เฉพาะท้องถิ่นลักษณะผ้าทอไหมเป็นสินค้าที่ผลิตในท้องถิ่น จึงทำให้มีลายและรูปแบบที่มีความเป็นเอกลักษณ์ มีลักษณะจำเพาะ
-                    เป็นสินค้าหัตถกรรมที่มีมูลค่าสูงเนื่องจากเป็นสินค้าที่ทำด้วยมือจึงมีคุณค่าและมีมูลค่าสูง
-                   เป็นภูมิปัญญาไทย
จุดอ่อน
-                   ไม่สามารถผลิตได้จำนวนมาก เนื่องจากเป็นสินค้าที่ทำด้วยมือ จึงต้องใช้เวลาในการผลิตค่อนข้างมาก
-                    มาตรฐานสินค้าไม่สม่ำเสมอ เช่น เดียวกันเนื่องจากเป็นสินค้าหัตถกรรมบางครั้งจึงทำให้มีมาตรฐานสินค้าที่ไม่สม่ำเสมอ เช่น สี คุณภาพผ้า เป็นต้น
-                   ดัดแปลงใช้กับชีวิตประจำวันได้ยาก ในการผลิตผ้าทอไหมเพื่อการใช้งานเมื่อนำมาใช้ดัดแปลงกับชีวิตความเป็นอยู่ในปัจจุบันจะสามารถใช้งานได้ยาก เนื่องจากคุณสมบัติของผ้า ลวดลาย สีสัน
-                   ดูแลรักษายาก เนื่องจากเป็นผ้าไหมทอมือ จึงจำเป็นต้องใช้การดูแลรักษาเป็นอย่างดี จึงจะทำให้เกิดความยุ่งยาก
โอกาส
-                   ผู้ซื้อจากต่างประเทศต้องการสินค้าแปลกใหม่ ที่ไม่สามารถหาได้ทั่วไปในตลาดความนิยมวัสดุธรรมชาติมีแนวโน้มสูงขึ้น เช่น ผ้าฝ้าย ผ้าไหม ใช้การย้อมสีธรรมชาติเนื่องจากจะไม่ส่งผลต่อร่างกาย มีรูปแบบที่น่าสนใจและมีราคาที่เหมาะสม มีกลิ่นอายของความเป็นเอเชีย
-                   ผ้าไหมไทยมีเอกลักษณ์และเป็นที่ชื่นชมในระดับนานาชาติ ทำให้ผลผลิตจากอุตสาหกรรมไหมยังมีโอกาสอีกมากในตลาดทั้งภายในและภายนอกประเทศ
ปัญหาและอุปสรรค
-                   การแข่งขันในตลาดต่างประเทศมีสูงมาก ในตลาดโลกมีสินค้าหลากหลายที่เสนอให้กับลูกค้า ทั้งในเรื่องของรูปแบบราคา คุณภาพ ดังนั้นสินค้าจากไทยรูปแบบเติม ๆ จะไม่สามารถครองตลาดได้อีกต่อไป
-                   ปริมาณเส้นไหมที่มีอยู่ในประเทศไม่เพียงพอกับความต้องการ ต้องมีการนำเข้าทำให้มีต้นทุนในส่วนวัตถุดิบสูงขึ้น
-                   มีการแข่งขันจากผ้าทอพื้นเมืองที่ทำจากวัสดุอื่นที่มีราคาถูกกว่า และดูแลรักษาง่ายกว่า เช่น ผ้าฝ้ายทอพื้นเมือง เป็นต้น

4 ความคิดเห็น:

  1. Good.
    Do the SWOT for silk products which will be exported to Australia.

    ตอบลบ
  2. ตกแต่งสวยงามค่ะ เนื้อหาดีมากค่ะ ^^

    ตอบลบ
  3. ทำสวยมากเลย ผ้าไหมก็สวย วิเคราะห์ เข้าใจง่ายดีอะ

    ตอบลบ